ก่อนจะถึง “ลาบูบู้” มีน้องคนไหน อยู่ในตำนานก่อนหน้านี้ไหม
วันนี้คนอาจจะถามหาน้องลาบูบู้ เป็นกระแสฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง ที่ราคารีเซลล์ก้าวกระโดดไปเกินหมื่น แถมคนดังอย่าง “ลิซ่า Blackpink” ยังต้องมีไว้ในครอบครอง ยิ่งทำให้เจ้าน้องลาบูบู้เป็นที่จับจ้องมากที่สุดเวลานี้
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนแห่ปลาบปลื้มของเล่นหรือของตกแต่งสักชิ้นหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้กระแสของตุ๊กตา เครื่องประดับ ของเล่น ที่ฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมืองชนิดคนกวาดต้อนซื้อตามมีให้ได้เห็นอยู่ตลอด แต่แล้วก็ถูกเก็บเข้ากรุตาม ๆ กันไป เพราะสินค้าเหล่านี้คือ Current Product ที่มีระยะเวลาของมัน
ย้อนอดีตไปช่วง 2000s
เริ่มที่. . .
ตุ๊กตาบลายธ์ (Blythe)
ตุ๊กตาหน้าตาเหมือนมนุษย์ ดวงตากลมโต เปลี่ยนสีได้ ขนตาสะพรึง ที่เรียกเสียงฮือฮา เพราะคนในวงการบันเทิงไทยต่างหิ้วมาอวดโฉมบนหน้าสื่อ เลี้ยงเหมือนลูกรัก กลายเป็นกระแสที่คนแห่ซื้อมาครอบครองตาม เพื่อบ่งบอกว่าตนก็อยู่ในกระแสนี้ด้วยเช่นกัน ทำให้ในตอนนั้นราคาน้องบลายธ์พุ่งไปเกือบแสนบาท
บลายธ์เป็นตุ๊กตาที่ผลิตในฮ่องกงและวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัท เค็นเนอร์ ตั้งแต่ปี 1972 ออกแบบโดยนักออกแบบของบริษัท มาร์วิน กลาส สตูดิโอ ประกอบด้วย แอลลิสัน แคตสแมน และรูเบ็น เทอร์เซียน
แต่ตุ๊กตารุ่นนี้ไม่ได้รับความนิยม จึงมีวางจำหน่ายเพียงปีเดียวในสหรัฐอเมริกา จากนั้นก็ไม่ได้มีการจำหน่ายอีก ซึ่งนั่นทำให้ตุ๊กตาบลายธ์ที่ผลิตในปีนั้นเป็นของแรร์ไอเทมทันที นักสะสมตัวยงต่างควานหารุ่นนี้กันเป็นจำนวนมาก พร้อมจ่ายในราคาที่แพง ขึ้นอยู่กับสภาพของตุ๊กตา โดยราคาซื้อขายทั่วไปจะอยู่ที่ตัวละ 1,000 กว่าดอลลาร์ ส่วนตุ๊กตาบลายธ์ที่ผลิตใหม่ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ที่เรียกว่า นีโอ บลายธ์ เวลาขายทอดตลาดจะได้ราคาไม่ต่ำไปกว่าราคาซื้อมา ยิ่งถ้าเป็นรุ่นที่ผลิตออกมาในจำนวนจำกัด (limited edition) ก็ยิ่งได้ราคาดี
ซึ่งปัจจุบันบริษัท เค็นเนอร์ได้เลิกกิจการแล้ว และลิขสิทธิ์ของตุ๊กตาบลายธ์ถือครองโดย บริษัท แฮสโบร แทน
กระแสบลายธ์เริ่มมาจากที่ในปี 1997 เมื่อ Gina Garan โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ในนิวยอร์กได้รับตุ๊กตาบลายธ์เป็นของขวัญจากเพื่อน และได้ใช้ตุ๊กตานี้ไปตีพิมพ์หนังสือภาพถ่าย ชื่อ “This is Blythe” ซึ่งมีแต่ภาพตุ๊กตาบลายธ์ทั้งเล่ม ห้าปีต่อมาก็เริ่มเกิดกระแสความนิยมถูกนำไปต่อยอดทำนิทรรศการและได้รับความสนใจจากแบรนด์แฟชั่นแนวหน้า อาทิ Prada, Gucci, Versace และยังถูกนำไปใช้ในภาพยนตร์โฆษณาของห้างสรรพสินค้าของญี่ปุ่น จุดกระแสความนิยมในญี่ปุ่นทันที จนสินค้านีโอบลายธ์บนเว็บขายสินค้าของ Yahoo หมดเกลี้ยงสต๊อกถึง 4 ครั้งติดต่อกัน แล้วยิ่งรายการโทรทัศน์ I Love the ’70s ของ VH1 ได้จัดให้มีช่วงเวลาพิเศษของตุ๊กตาบลายธ์โดยเฉพาะ จึงทำให้เกิดความนิยมไปในวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก
จากราคาจำหน่ายตอนแรกอยู่ที่เพียงตัวละ 35 ดอลลาร์ ก็กระโดดขึ้นเกินกว่า 1,000 ดอลลาร์
อย่างรุ่น “วินเทจ” ที่ผลิตจำหน่ายในปี 1972 สามารถเรียกราคาประมูลบนเว็บไซต์อีเบย์ได้ตัวละกว่า 2,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 76,000 บาท (จากราคาจำหน่ายแค่ตัวละ 35 ดอลลาร์ หรือ 1,300 กว่าบาท)
บลายธ์ไม่ได้มีเพียงตุ๊กตาเท่านั้น แต่ยังมีของใช้สำหรับผู้หญิง เช่น เข็มกลัด กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าสะพาย ซองโทรศัพท์มือถือ แผ่นดีวีดี หนังสือรวมภาพตุ๊กตาบลายธ์ในอิริยาบถต่างๆ แต่กระแสบลายธ์ในไทยตอนนี้เหลือเพียงในกลุ่มนักสะสมวงแคบๆ ไม่เหลือความหวือหวาอะไรแล้ว
ดอกมุราคามิ
ช่วงหนึ่งที่เราไปเดินสยามสแควร์จะเห็นวัยรุ่นติดเข็มกลัดดอกไม้สีสดกันเต็มไปหมด ดอกมุราคามิ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2003 มาจากประเทศญี่ปุ่นผลิตโดยบริษัท Kaikai Kiki by TAKASHI MURAKAMI ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตงานอาร์ตของ MURAKAMI ออกวางจำหน่ายอยู่แล้ว
ทาคาชิพยายามเลียนแบบดอกไม้นิฮงกะแบบดั้งเดิมมากกว่าห้าสิบครั้ง และด้วยเหตุนี้ ลวดลาย ดอกไม้จึงมีชีวิตขึ้นมาแม้ว่าดอกไม้หลากสียิ้มนี้อาจดูไร้เดียงสาเมื่อมองแวบแรก แต่สัญลักษณ์นี้กลับซ่อนข้อความที่เข้มกว่านั้นไว้มาก ลวดลาย ดอกไม้ของมุราคามิสื่อถึงบาดแผลทางจิตใจและอารมณ์อันมืดมนโดยรวมที่ชาวญี่ปุ่นยังคงประสบอยู่จากเหตุระเบิดที่ฮิโรชิมาและนางาซากิในปี 1945
กระแสของดอกมุราคามิอยู่ในช่วงปี 2008-2012 ราว ๆ นี้ โดยมีคนดังเคป๊อป “G – Dragon” ลีดเดอร์แห่งวง Bigbang แฟชั่นไอคอนของยุคนั้น ได้นำไปประดับบนเสื้อแล้วดูเท่จนคนต่างไปเสาะหาซื้อตาม
แล้วยิ่งเป็นกระแสไปอีกเมื่อคนเห็นป้ายราคา คนยิ่งตั้งกระทู้ว่าเป็นไอเทมไฮแฟชั่น คนที่อยากโชว์ความไฮเอนด์ก็ไปหาซื้อตามโดยไม่สนราคา ส่วนกระแสในไทยเริ่มมาจากสมาชิกวง BNK48 นำมาใส่ แล้วคนไทยก็เริ่มตามหานับแต่นั้น
ดอกมุราคามิยังไปปรากฏในสินค้าแฟชั่นมากมาย อาทิ บนเครื่องประดับของ Ben Baller, นาฬิกา Tourbillon, กระเป๋า Porter และสินค้า Supreme เป็นต้น ดอกมุราคามิก็กลายเป็นสัญลักษณ์จุดบรรจบของศิลปะ แฟชั่น และวัฒนธรรม
เฟอร์บี้
ภาพหิ้วน้องบลายธ์ออกสื่อผ่านไปไม่ทันไร เจ้าตุ๊กตาขน จะงอยปาก หูใหญ่ ตาโต ตัวปกคลุมไปด้วยขนสัตว์ ก็ปรากฏเป็นภาพซ้ำรอยหน้าสื่ออีกครั้ง
เฟอร์บี้เปิดตัวครั้งแรกในปี 1998 โดย Tiger Electronics เปิดตัวครั้งแรกในชื่อ “Classic Furby” มีลักษณะคล้ายหนูแฮมสเตอร์หรือนกฮูก พูดภาษาเฉพาะตัว กลายเป็นกระแสนิยมไปในวงกว้าง ขายได้ 40 ล้านตัว แต่ไม่ทันไรความนิยมก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2001 ต้องหยุดการผลิตไป
ปี 2005 Hasbro ก็ได้ซื้อ Tiger Electronics และกลายเป็นเจ้าของสิทธิ์เฟอร์บี้คนใหม่ พวกเขาได้เข้ามาพัฒนาเปิดตัวรุ่นใหม่ที่แตกต่างออกไป ชื่อ “Emoto-Tronic Furby” มาพร้อมการจดจำเสียงและคุณสมบัติใหม่ โดยได้รับการตั้งโปรแกรมให้เริ่มพูดคำและวลีภาษาอังกฤษแทน ความสามารถในการพูดได้รับการแปลไป 14 ภาษา ความน่าสนใจนี้เรียกเงินในกระเป๋านักสะสมได้อย่างดี
ในปี 2012 Hasbro ได้เปิดตัว Furby รุ่นใหม่อีกรุ่นชื่อ “Furby 2012” ซึ่งไม่นานก็ได้รับการปรับปรุงใหม่เป็น “Furby Boom” มาพร้อมกับ แอปพลิเคชันบนมือถือของตัวเองและสามารถเปลี่ยนบุคลิกได้ตามประเภทปฏิสัมพันธ์ที่บุคคลหนึ่งมีต่อพวกมัน
เฟอร์บี้เดิมขายปลีกในราคาประมาณ 35 ดอลลาร์ ความต้องการพุ่งสูงขึ้นจนราคาขายทะลุ 300 ดอลลาร์
ปี 2016 บริษัทได้เปิดตัว Furby รุ่นใหม่ที่เรียกว่า “Furby Connect” ซึ่งล้ำหน้ากว่ารุ่นก่อน ๆ แม้กระแสของเฟอร์บี้ในไทยจะสูญสิ้นไปแล้ว แต่ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศยังมีให้ได้เห็นต่อเนื่อง ในปี 2023 บริษัทยังเปิดตัวรุ่นใหม่ ๆ ต่อเนื่อง “Furby รุ่นปี 2023” ซึ่งจัดอยู่ในยุคที่ 5 แล้ว
น้องใหม่ “ลาบูบู้”
น้องสัตว์ประหลาดขนฟูหน้าตาน่าชัง กำลังเป็นกระแสในไทยอย่างมาก ตามรอยสินค้ากระแสอื่น ๆ ไม่มีผิด ราคารีเซลล์ที่ผลักขึ้นไปจนติดเพดาน ลาบูบู้เป็นผลงานของ Kasing Lung ศิลปินเจ้าของผลงานของเขามีสไตล์เทพนิยายนอร์ดิก ซึ่งมีเหล่าสัตว์ประหลาดอาศัยอยู่ในนั้น มีทั้งตัวแทนความดีความชั่ว หนึ่งในคาแรกเตอร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ลาบูบู้ สัตว์ประหลาดตัวเล็กที่มีหูแหลมสูงและฟันหยัก ดูซุกซน แต่จิตใจดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ
Kasing Lung เป็นชาวจีนคนแรกที่ได้รับรางวัล Illustration Award ในเบลเยียม มีพื้นเพมาจากฮ่องกง ปัจจุบันอาศัยอยู่กับครอบครัวในเบลเยียม Lung มีประสบการณ์มากกว่า 10 ปีในการวาดภาพประกอบ และในปี 2010 ได้เปลี่ยนมาเป็นนักออกแบบของเล่น โดยร่วมมือกับ How2work แบรนด์ของเล่นชื่อดังในฮ่องกง ออกซีรีส์ Art Toy