อันที่จริงอาร์ตทอยก็มีพัฒนาการที่สัมพันธ์กับโลกทุนนิยมและการผลิตที่แมสขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราพูดถึงอาร์ตทอยหรือดีไซเนอร์ทอยยุคแรกซึ่งในยุคนั้นเป็นการผลิตของดีไซเนอร์เอง มีแฟนคลับเฉพาะและการแย่งซื้อในระดับวงในสุดๆ ถ้านับจากมุมมองคนทั่วไป และมองว่าอาร์ตทอยทุกวันนี้ที่ว่าแพงแล้ว อาร์ตทอยในยุคแรกเหมือนเป็นงานศิลปะสะสมกันในหมู่ผู้สนใจศิลปะร่วมสมัย เข้าถึงได้ยากและมีราคาสูงมากๆ ไม่ต่างกับงานศิลปะอื่นๆ
หนึ่งในตัวอย่างหมุดหมายของวงการที่เราเองหรือผู้สนใจศิลปะป๊อปร่วมสมัยคือซีรีส์ Companion ของ KAWS ศิลปินกราฟฟิตี้ที่หันมาใช้ไวนิลขึ้นรูปเจ้าหนูตากากบาทที่กลายเป็นกระแสและเป็นหมุดหมายศิลปะร่วมสมัยไปทั่วโลก เจ้าหนูคอมพาเนียนเป็นตัวอย่างที่ค่อนช่างชัดเจนของอาร์ตทอยคือตัวมันเองล้อเลียนงานบันเทิงร่วมสมัย ตัวหน้าตาของมันคืออีกเวอร์ชั่นของมิกกี้เมาส์ และจุดเด่นของมันคือการเอาลักษณะของป๊อปคัลเจอร์ที่แมสๆ มาผสมผสาน เช่น ซิมป์สัน เอลโม่จากเซซามี่สตรีท พิน็อกคิโอ ไปจนถึงงานจากยุคก่อนหน้าเช่นประเด็นเรื่องสันติภาพ การต้านสงคราม ไปจนถึงพวกกราฟฟิตี้ที่พูดเรื่องความยากจนหรือไม่เท่าเทียม
เสน่ห์อย่างนึงของงานสตรีทและงานป๊อปอาร์ตคือ พวกมันกำลังล้อเลียนความเป็นศิลปะจากงานร่วมสมัย เช่นเอาภาพบันเทิงแมสๆ มาบิดและทำให้กลายเป็นชิ้นงานเฉพาะ ของเล่นขึ้นรูปเหล่านี้จึงมีสถานะเป็นศิลปะในตัว และตัวมันเองก็กำลังล้อเลียนทั้งความเป็นศิลปะที่เคยสูงส่งจากยุคก่อนหน้า ล้อเลียนไปจนถึงสิ่งที่เราเสพและสภาพสังคมร่วมสมัยของโลกทุนนิยมและชีวิตสมัยใหม่
ของเล่นในยุคปี 2000 ที่มี KAWS เป็นตัวอย่าง ในยุคนั้นถึงจะบอกว่าแมส แต่ก็นับว่าแพง เป็นของสะสมของเจ้าพ่อวงการสตรีท ของนักร้องคนดัง ตัวอย่างของ KAWS คือในปี 2017 ทาง Museum of Modern Art หรือ MoMA จำหน่ายซีรีส์ Companion ความสูงขนาด 11 นิ้วในราคา 200 ดอลลาร์ต่อชิ้น ในตอนนั้นฟิกเกอร์หรืออาร์ตทอยราคาเกือบหมื่นนี้ขายดีจนเว็บล่มไปเลย ซึ่งราคาตอนนั้นนับว่าสูง แต่พอซื้อได้ ถ้าเรามองว่ามันคืองานศิลปะ ในขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตที่มีจำกัด
อันที่จริงราคาเปิดของดีไซเนอร์ทอยทั้งหลายไม่ใช่ปัญหา การได้มาจากการผลิตจำนวนจำกัดทำให้เกิดปรากฏการณ์ resell เรียกได้ว่าผลงานเหล่านี้ถ้าได้มาแล้วมักจะมีราคาพุ่งขึ้น บางชิ้นพุ่งขึ้นอย่างน่าตกใจจนเกิดการเก็งกำไรไปจนถึงเกิดปรากฏการณ์จ้างต่อคิวเพื่อให้ได้ของที่ต้องการมา เจ้าคอมพาเนียนเองก็มีการประมูลที่ขนาด 4 ฟุต ถูกประมูลใหม่ในราคา 150,000 ดอลลาร์ หรืองานระดับศิลปะไฟเบอร์กลาสรุ่น Clean Slate ปี 2014 มี 3 ตัวบนโลก ที่ประมูลทะลุราคาคาดการณ์ 1 ล้านดอลลาร์ ไปที่ 1.9 ล้านดอลลาร์
ในยุคใกล้ๆ กันคือในปี 2001 ก็เกิดอาร์ตทอยสำคัญคือเจ้าหมีแบร์บริก หมีโล่งๆ ที่ชอบไปคอลแล็บกับป๊อปคัลเจอร์หรือแบรนด์ต่างๆ แบร์บริกทำให้เกิดมาตรฐานไซส์ของอาร์ตทอยที่ชาวอาร์ตทอยเรียกว่าเป็นขนาด 100% คือราว 7 เซนติเมตร และมีมาตรวัดที่สัมพันธ์กับขนาดมาตรฐานไม่ว่าจะเป็น 50% คือ 4 เซนติเมตร หรือ 400% คือ 28 เซนติเมตร และไซส์ยักษ์คือ 1,000% คือราว 70 เซนติเมตร ความสัมพัทธ์ของขนาดกลายเป็นอีกหนึ่งรายละเอียดย่อยของการเก็บสะสม เช่นขนาดใหญ่พิเศษที่ 200-1,000% อาจเป็นการผลิตรุ่นพิเศษที่มีขนาดใหญ่ มีราคาสูงขึ้น ระยะหลังขนาด 100% ค่อนข้างกลายเป็นขนาดอ้างอิงกับของกล่องสุ่ม (blind box)
ArttoyPLAY.com ติดตามเราเพื่ออัพเดตข่าวสารเกี่ยวกับวงการ Arttoy Figureต่างๆจาก Designerทั่วโลก